ราชภัฏโคราชเปิดสอนบาลีศึกษา เตรียมสอบบาลีสนามหลวง


เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาคาร ๓๖ ห้อง ๓๖.๐๒.๐๕ ได้มีกิจกรรมการเรียนการสอนบาลีศึกษา เพื่อเตรียมสอบบาลีสนามหลวง ประจำปี ๒๕๖๑ มีนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่สนใจศึกษาในวิชาดังกล่าวเข้าฟังการบรรยาย โดยมีพระมหาเมธี อริยรํสี (ป.ธ. ๙) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสะแก (พระอารามหลวง) ได้เมตตามาเป็นอาจารย์สอนบาลีศึกษาให้กับนักศึกษาและคณาจารย์ที่สนใจ โดยกำหนดเรียนทุกเย็นวันจันทร์ – พฤหัสบดีของทุกๆสัปดาห์ ตั้งแต่เวลา ๑๖.๓๐ – ๑๘.๓๐ น. จนกว่าจะมีการสอบบาลีสนามหลวงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี ๒๕๖๑ ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมใหม่ และได้รับความสนใจมากพอสมควรจากนักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
พุทฺธวจนํ เตปิฏกํ ปาเลตีติ ปาลิ
ภาษาใด รักษาไว้ซึ่งพระดำรัสของพระพุทธเจ้าคือพระไตรปิฎก ภาษานั้น ชื่อว่า ภาษาบาลี
ชาวชมพูทวีปมีหลายชาติพันธุ์และสื่อสารกันหลายภาษา เฉพาะในรัฐมคธซึ่งเป็นรัฐที่ใหญ่และเข้มแข็งในสมัยพุทธกาล มีกลุ่มคนที่พูดภาษาท้องถิ่นหลายภาษา และมีภาษาหนึ่งที่ใช้พูดกันอย่างแพร่หลายทั้งในระดับชาวบ้านและชนชั้นสูงต่าง ๆ ในรัฐมคธและรัฐใกล้เคียง คนสมัยหลังเรียกภาษานี้ว่า มาคธี-ภาษามคธ (ภาษาที่ใช้พูดกันในรัฐมคธ)
เพราะภาษานี้รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ชาวพุทธในประเทศต่าง ๆ จึงถือเป็นภาระธุระอย่างสำคัญยิ่งในการดูแลรักษา ถ่ายทอด ส่งต่อ และศึกษาภาษานี้เพื่อจะได้เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร แล้วนำมาปฏิบัติตามเพื่อให้ชีวิตของตนเองได้บรรลุถึงประโยชน์ที่ควรจะได้รับในโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา
คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และสัททาวิเสสต่าง ๆ ของกลุ่มประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ได้แก่ ประเทศไทย พม่า ศรีลังกา เขมร ลาว มีจุดที่ผิดแผกแตกต่างกันน้อยมาก เรียกได้ว่า บรรพชนของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ ต่างมีความสามารถในการรักษาพระบาลีนี้ได้ดีไม่แพ้กัน มีการติดต่อสัมพันธ์ ศึกษาและตรวจทานความถูกต้องของบาลีฉบับต่าง ๆ ในประเทศของตนเองกับต้นฉบับบาลีของกลุ่มประเทศเถรวาทด้วยกันเป็นระยะ ๆ อยู่เสมอ
ความสำคัญของภาษาบาลี
๑. ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
๒. ความสำคัญต่อความเป็นชาวพุทธ ในพิธีสังฆกรรมสำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนา ล้วนต้องใช้ภาษาบาลี สังฆกรรมนั้น ๆ จึงจะสำเร็จได้
๓. ความสำคัญต่อตัวบุคคล เนื่องจากคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นการออกแบบระบบและสภาพแวดล้อมทางสังคมในรูปแบบที่เน้นพรหมวิหารธรรมอย่างสมบูรณ์ทุกระดับ
๔. ความสำคัญต่อประเทศไทย บรรพชนมนุษย์ในดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ได้นับถือพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีปฏิบัติของชาวไทยจึงแนบแน่นกับพระพุทธศาสนาในแทบทุกมิติตั้งแต่เกิดจนตาย
ถ้าจะเปรียบเทียบกับร่างกายของคนเราแล้ว ภาษาบาลีก็เปรียบเหมือนเลือดในร่างกาย เลือดของพระพุทธศาสนาคือภาษาบาลี ถ้าร่างกายคนเราขาดเลือด เลือดมีปัญหา หรือกระแสเลือดติดเชื้อร้าย ก็ยากที่ร่างกายนี้จะอยู่ได้เป็นปกติ เช่นกัน ถ้าพระพุทธศาสนาขาดภาษาบาลีหรือชาวพุทธไม่รู้ภาษาบาลีดีพอ ก็ยากที่พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ ดังนั้นชาวพุทธทุกคนจึงต้องควรได้เรียนภาษาบาลี เรียนไปตลอดชีวิต เรียนโดยไม่ท้อแท้ ไม่เหนื่อยหน่าย เรียนให้ตรงต่อจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา นี่แหละจึงจะถือว่าเป็นพุทธศาสนทายาทที่ดี เพราะชาวพุทธทุกคนล้วนเป็นพุทธศาสนทายาททั้งนั้น ไม่ใช่ไปจำกัดว่า คนที่บวชเท่านั้นจึงจะเป็นศาสนทายาท ชาวพุทธทุกคนมีหน้าที่และสามารถสืบทอดพระพุทธศาสนาได้ สามารถส่งต่อพระพุทธศาสนาสู่คนรุ่นต่อไปได้ และสามารถศึกษาและเข้าถึงประโยชน์ที่ตนเองพึงได้รับจากพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติด้วยตนเองได้ทุกคน

Reviews

  • Total Score 0%
User rating: 0.00% ( 0
votes )


Lecturer in Buddhism at NRRU

Related articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *