ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ปี พ.ศ.2560 ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ที่ได้เห็นชอบโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2559-2572) ซึ่งแต่เดิมคือชื่อโครงการคุรุทายาท แต่เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกคนดี คนเก่ง เข้ามาเป็นครู เข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว บัณฑิตครูจะได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)
โดยในปี 2559 เป็นปีแรกที่เริ่มดำเนินการ และปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ได้ดำเนินการ โดยได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ (กรณีคัดเลือกนิสิตนักศึกษาครูชั้นปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2559) ที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) ในภาพรวมทุกวิชา วิชาเอก และวิชาชีพครู ไม่ต่ำกว่า 3.00 และผ่านการสอบคัดเลือกใน 3 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) จำนวน 3,792 คน โดยมารายงานตัวจำนวนทั้งสิ้น 3,554 คน
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้รับทราบแนวปฏิบัติต่าง ๆ ในระหว่างการเตรียมตัวและการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะออกไปเป็นครูในพื้นที่ต่าง ๆ อันถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้บัณฑิตเมื่อจบแล้วกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
ม.ล.ปริยดา ดิศกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า 10 อันดับสูงสุดของสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาสอบเข้าโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ปี พ.ศ.2560 จากจำนวนผ่านการคัดเลือก 3,792 คน ได้มากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 170 คน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 135 คน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เท่ากัน 130 คน ตามลำดับ
ขอบคุณภาพและข่าวจาก : http://www.moe.go.th/websm/2017/jul/341.html